ธ.ก.ส. โอนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 9 อีกกว่า 4.8 หมื่นครัวเรือน เป็นเงินกว่า 150 ล้านบาท วันนี้ (15 ธ.ค.)
วันที่ 15 ธันวาคม 2565 นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 กรอบวงเงินงบประมาณตามกรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จำนวน 18,700.13 ล้านบาท และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส.
เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน
เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุด ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ โดยที่กลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้เริ่มโอนเงินประกันรายได้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 โดยโอนเงินงวดที่ 1 – 8 ให้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ไปแล้วจำนวน 2.53 ล้านครัวเรือน เป็นจำนวนเงิน 7,254.99 ล้านบาท
สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวในช่วงวันที่ 3 ธันวาคมถึง 9 ธันวาคม 2565 ธ.ก.ส. จะโอนเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง (งวดที่ 9 และงวดที่ 1 – 8 เพิ่มเติม) เข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 จำนวนกว่า 48,336 ครัวเรือน เป็นจำนวนเงิน 150.35 ล้านบาท
ทั้งนี้ เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 กับกรมส่งเสริมการเกษตร และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวเพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยว
และคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชยส่งให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อประมวลผล